ตอนที่ 2 – พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ว่าด้วยเรื่องการศึกษา
เสด็จพ่อร.5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และการขวนขวายหาความรู้เป็นอย่างมาก ทรงเชื่อว่าการศึกษาในห้องเรียนนั้นยังไม่เพียงพอกับความรู้ เราจะต้องก้าวออกไปข้างนอกห้องเรียน และเดินทางไปเสาะแสวงหาความรู้จากโลกภายนอกอีกด้วย ทราบหรือไม่ว่าพระองค์ทรงส่งพระราชโอรสของพระองค์เองไปศึกษาที่ต่างประเทศ เนื่องจากพระองค์ได้ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเป็นอย่างมาก และจากการที่พระองค์ได้มีโอกาสเสด็จไปประพาส ณ ที่ต่างๆทั่วโลกนั้น ทำให้พระองค์เองได้นำความรู้และสิ่งต่างๆที่ดีๆ กลับมาสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศสยามของเราให้พัฒนาทัดเทียมกับต่างประเทศอีกด้วย จากตอนที่ 1 ที่ได้กล่าวไปถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงก่อตั้งริเริ่มและทำเพื่อเรามากมายนั้น ในตอนนี้จะขอกล่าวเน้นถึงด้านการศึกษาที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างมาก
เสด็จพ่อร.5ของพวกเราส่งพระราชโอรสไปเรียนต่างประเทศทุกๆพระองค์ทั่วทั้งยุโรป ทรงให้ลูกๆของพระองค์เขียนจดหมายกลับมาบอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอ พูดถึงการบ้าน สิ่งที่พบเห็น และต้องเขียนจดหมายกลับมาทั้งสิ้นอย่างน้อย 2 ภาษาด้วยกัน เช่น ภาษาไทยต้องเขียนอย่างแน่นอน ให้ถูกต้องชัดเจน จะได้ไม่ลืมถึงภาษาบ้านเกิดของตน, ภาษาอังกฤษก็จะต้องเขียนให้ถูกต้องตามหลักไวยยากรณ์ และหากพระองค์ไหนเสด็จไปศึกษาณ ประเทศอื่นๆในยุโรปก็จะต้องเขียนจดหมายกลับมาเป็นภาษานั้นๆเพิ่มด้วยเช่น หากเสด็จไปเรียนที่ฝรั่งเศส, อิตาลี, สวิสเซอร์แลนด์ ก็จะต้องเขียนจดหมายกลับมาให้เสด็จพ่อในภาษานั้นๆด้วย โดยมีใจความเดียวกันทั้งหมดทุกฉบับแต่แตกออกเป็น 2-3 ภาษานั่นเอง – ทั้งนี้เด็จพ่อร.5 ของเราต้องการจะให้ลูกๆของพระองค์นั้น ฝึกฝนภาษาได้เป็นอย่างดีและไม่ลืมภาษาไทยนั้นเอง อีกทั้งจะได้ทราบถึงข่าวคราวความเป็นไปของลูกๆทุกคนด้วย โดยพระราชโอรสทุกๆพระองค์นั้นแม้เป็นลูกเจ้านายลูกกษัตริย์ แต่ก็จะต้องดำเนินชีวิตเยี่ยงคนธรรมดาสามัญเมื่อครั้งไปเรียนไกลบ้าน พระองค์ทรงตรัสสอนลูกๆของพระองค์ว่า
(ตัวสะกดตามต้นฉบับซึ่งเป็นภาษาโบราณจาก “พระบรมราโชวาท พระราชทานพระราชโอรสในรัชกาลที่๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระมาตุจฉา โปรดให้พิมพ์ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๖๖ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไท ถนนรองเมือง”)
“๑. การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียวไม่มั่นหมายจะให้เปนเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้นซึ่งยังเปนผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย เพราะฉนั้นที่จะไปครั้งนี้ อย่าให้ไว้ยศว่าเปนเจ้า ให้ถือเอาบันดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยามคืออย่าให้ใช้ฮิสรอแยลไฮเนสปรินส์นำน่าชื่อ ให้ใช้แต่ชื่อเดิมของตัวเฉยๆ เมื่อผู้อื่นเขาจะเติมน่าชื่อฤาจะเติมท้ายชื่อตามธรรมเนียมอังกฤษเปนมิศเตอร ฤาเอศไควก็ตามทีเถิด อย่าคัดค้านเขาเลย แต่ไม่ต้องใช้คำว่านายตามอย่างไทย ซึ่งเปนคำนำของชื่อลูกขุนนางที่เคยใช้แทนมิศเตอร์เมื่อเรียกชื่อไทยในภาษาอังกฤษบ่อยๆ เพราะว่าเปนภาษาไทยซึ่งจะทำให้เปนที่ฟังขัดๆหูไป
ขออธิบายความประสงค์ข้อนี้ให้ชัดว่า เหตุใดจึงได้ไม่ให้ไปเปนยศเจ้า เหมือนอาว์ของตัวที่เคยไปแต่ก่อน ความประสงค์ข้อนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณา ฤาจะปิดบังส้อนเร้นไม่ให้รู้ว่าเปนลูกอย่างนั้นเลย พ่อคงรับว่าเปนลูก แลมีความเมตตากรุณาตามธรรมดาที่บิดาจะกรุณาต่อบุตร แต่เห็นว่าซึ่งจะเปนยศเจ้าไปนั้นไม่เปนประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก ด้วยธรรมดาเจ้านายฝ่ายเขามีน้อย เจ้านายฝ่ายเรามีมาก ข้างฝ่ายเขามีน้อยตัวก็ยกย่องทำนุบำรุงกันใหญ่โตมากกว่าเรา ฝ่ายเราจะไปมียศเสมออยู่กับเขา แต่ความบริบูรณ์แลยศศักดิ์ไม่เต็มที่เหมือนอย่างเขา ก็จะเปนที่น้อยหน้าแลเห็นเปนเจ้านายเมืองไทยเลวไป และถ้าเปนเจ้านายแล้วต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวง ที่จะทำทุกอย่าง เปนเครื่องล่อหูล่อตาคนทั้งปวงที่พอใจดูพอใจฟัง จะทำอันใดก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุดจนจะซื้อจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เปนการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่าถึงจะเปนเจ้าก็ดีเปนไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศมิใช่บ้านเมืองของตัว ก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดไปผิดกับคนสามัญได้ จะมีประโยชน์อยู่นิดหนึ่งแต่เพียงเข้าที่ประชุมสูงๆได้ แต่ถ้าเปนลูกผุ้ดีมีตระกูลก็จะเข้าในที่ประชุมสูงๆ ได้เท่ากันกับเปนเจ้านั่นเอง เพราะฉนั้นจึงขอห้ามเสียว่าอย่าให้ไปอวดอ้างเองฤาอย่างให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเปนเจ้านายอันใดจงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้
๒. เงินค่าที่จะใช้สอยในการเล่าเรียนกินอยู่นุ่งห่มทั้งปวงนั้น จะใช้เงินพระคลังข้างที่ คือเงินที่เปนส่วนสิทธิ์ขาดแก่ตัวพ่อเอง ไม่ใช่เงินที่สำหรับจ่ายราชการแผ่นดิน เงินรายนี้ได้ฝากไว้ที่แบงก์ซึ่งจะได้มีคำสั่งให้ราชฑูตจ่าย เปนเงินสำหรับเรียนวิชาขั้นต้น ๕ ปีๆ ละ ๓๒0 ปอนด์ เงิน ๑๖00 ปอนด์ สำหรับเรียนวิชาชั้นหลังอีก ๕ ปีๆ ละ ๔00 ปอนด์ เงิน ๒000 ปอนด์ รวมเปนคนละ ๓๒00 ปอนด์ จะได้รู้วิชาเสร็จสิ้นอย่างชาใน ๑0 ปี แต่เงินนี้ฝากไว้ในแบงก์คงจะมีดอกเบี้ยมากขึ้น เหลือการเล่าเรียนแล้วจะได้ใช้ประโยชน์ของตัวเองตามชอบใจ เปนส่วนยกให้ เงินส่วนของใครจะให้ลงชื่อเปนของผู้นั้นฝากเอง แต่ในกำหนดยังไม่ถึงอายุ ๒๑ ปีเต็ม จะเรียกเอาเงินใช้สอยเองมิได้ จะตั้งผู้จัดการแทนไว้ที่นอกให้เปนผู้ช่วยจัดการไป เงินฝากไว้แห่งใดเท่าใดแลผู้ใดเปนผู้จัดการ จะได้ทำหนังสือมอบให้อีกฉบับหนึ่ง สำหรับที่จะได้ไปทวงเอาในเวลาต้องการได้
การซึ่งใช้เงินพระคลังข้างที่ไม่ใช้เงินแผ่นดินอย่างเช่นเคยจ่ายให้เจ้านายและบุตรข้าราชการไปเล่าเรียนแต่ก่อนนั้น เพราะเห็นว่าพ่อมีลูกมากด้วยกัน การซึ่งให้มีโอกาศแลให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้ เปนทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเปนของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ฤาไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็จะต้องส่งออกไปเรียนวิชาทุกคนตลอดโอกาศที่จะเปนไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆกันทุกคน ก็ถ้าจะใช้เงินแผ่นดินสำหรับให้ไปเล่าเรียน แก่ผู้ซึ่งไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กลับมาไม่ได้ทำราชการคุ้มกับเงินแผ่นดินที่ลงไป ก็จะเปนที่ติเตียนของคนบางจำพวกว่ามีลูกมากเกินไป จนต้องใช้เงินแผ่นดินเปนค่าเล่าเรียนมากมายเหลือเกิน แล้วซ้ำไม่เลือกฟั้นเอาแต่ที่เฉลียวฉลาดจะได้ราชการ คนโง่คนเง่าก็เอาไปเล่าเรียนให้เปลืองเงิน เพราะค่าที่เปนลูกของพ่อไม่อยากจะให้มีมลทินที่พูดติเตียนเกี่ยวข้องกับความปราถนาซึ่งจะสงเคราะห์แก่ลูก ให้ทั่วถึงโดยเที่ยงธรรมนี้ จึงมิได้ใช้เงินแผ่นดิน
อิกประการหนึ่งเล่า ถึงว่าเงินพระคลังข้างที่นั้นเอง ก็เปนเงินส่วนหนึ่งในเงินแผ่นดินเหมือนกัน เว้นแต่เปนส่วนที่ยกให้แก่พ่อใช้สอยการในตัว มีทำการกุศลแลสงเคราะห์บุตรภรรยาเปนต้น เห็นว่าการสงเคราะห์ด้วยเล่าเรียนดังนี้เปนดีกว่าอย่างอื่นๆ จึงได้เอาเงินรายนี้ใช้เปนการมีคุณต่อแผ่นดิน ที่ไม่ต้องแบ่งเงินแผ่นดินมาใช้เปนค่าเล่าเรียนขึ้นอิกส่วนหนึ่ง แลพ้นจากคำคัดค้านต่างๆ เพราะเหตุที่พ่อได้เอาเงินส่วนที่พ่อจะได้ใช้เองนั้นออกให้เล่าเรียน ด้วยเงินรายนี้ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะแซกแซงว่าควรใช้อย่างนั้น ไม่ควรใช้อย่างนั้นได้เลย
๓. จงรู้สึกตัวเปนนิจเถิด ว่าเกิดมาเปนเจ้านายมียศบันดาศักดิ์มากจริงอยู่ แต่ไม่เปนการจำเปนเลยที่ผู้ใดเปนเจ้าแผ่นดินขึ้น จะต้องใช้ราชการอันเปนช่องที่จะหาเกียรติยศชื่อเสียงแลทรัพย์สมบัติ ถ้าจะว่าตามการซึ่งเปนมาแต่ก่อน เจ้านายซึ่งจะหาช่องทำราชการได้ยากกว่าลูกขุนนาง เพราะเหตุที่เปนผู้มีวาศนาบันดาศักดิ์มากจะรับราชการในตำแหน่งต่ำๆ ซึ่งเปนกระไดขั้นแรก คือเปนนายรองหุ้มแพรมหาดเล็กเปนต้น ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะไปแต่งตั้งให้ว่าการใหญ่โตสมแก่ยศศักดิ์ เมื่อไม่มีวิชาการความรู้แลสติปัญญาพอที่จะทำการในตำแหน่งนั้นไปได้ ก็เปนไปไม่ได้ เพราะฉนั้นเจ้านายจะเปนผู้ได้ทำราชการมีชื่อเสียงดี ก็อาศรัยได้แต่สติปัญญาความรู้แลสติปัญญาความรู้แลความเพียรของตัว เพราะฉนั้นจงอุสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มีโอกาศที่จะทำการให้เปนคุณแก่บ้านเมืองของตัว แลโลกที่ตัวได้มาเกิด ถ้าจะถือว่าเกิดมาเปนเจ้านายแล้วนิ่งๆอยู่จนตลอดชีวิตก็เปนสบายดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตวดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตวดิรัจฉานมันเกิดมา กินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย แต่สัตวบางตัวยังมีหนังมีเขามีกระดูกเปนประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตวดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตวดิรัจฉานบางพวกไปอีก เพราะฉนั้นจงอุสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเปนกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตวดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเปนการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา
๔ อย่าได้ถือตัวว่าตัวเปนลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรงคุมเหงผู้ใด เขาก็คงจะมีความเกรงใจพ่อไม่ต่อสู้ฤาไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเปนการผิดแท้ทีเดียว เพราะความปราถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย เพราะรู้เปนแน่ว่าเมื่อรักลูกเกินไป ปล่อยให้ไม่กลัวใครแลประพฤติการชั่วดังนั้น คงจะเปนโทษแก่ตัวลูกนั้นเองทั้งในประจุบันอนาคต เพราะฉนั้นจงรู้เถิดว่าถ้าเมื่อได้ทำความผิดเมื่อใด จะได้รับโทษโดยทันที การที่มีพ่อเปนเจ้าแผ่นดินนั้น จะไม่เปนการช่วยเหลืออุดหนุนแก้ไขอันใดได้เลย อิกประการหนึ่งชีวิตสังขารของมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลาถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเปนแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู้ได้ด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลาไม่มีพ่อความชั่วนั้นคงจะปรากฎเปนโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด เพราะฉนั้นจงเปนคนอ่อนน้อมว่าง่ายสอนง่าย อย่าให้เปนทิษฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันหาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเปนนิจเถิด จงละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัวฤามีผู้ตักเตือนแนะนำ ให้รู้แล้วอย่าให้ล่วงให้เปนไปได้เลยเปนอันขาด
๕ เงินทองที่จะใช้สอยในค่ากินอยู่นุ่งห่มฤาใช้สอยเบ็ดเสร็จทั้งปวง จงเขม็ดแขม่ใช้แต่เพียงพอที่จะอนุญาติให้ใช้ อย่าทำใจโตมือโตสุรุ่ยสุร่ายโดยถือตัวว่าเปนเจ้านายมั่งมีมาก ฤาถือว่าพ่อเปนเจ้าแผ่นดินมีเงินทองถมไป ขอบอกเสียให้รู้แต่ต้นมือว่าถ้าผู้ใดไปเปนหนี้มา จะไม่ยอมใช้หนี้ให้เลย ฤาถ้าเปนการจำเปนจะต้องใช้ จะไม่ใช้เปล่าโดยไม่มีโทษแก่ตัวเลย พึงรู้ไว้เถิดว่าต้องใช้หนี้เมื่อใด ก็จะต้องรับโทษเมื่อนั้นพร้อมกัน อย่าเชื่อถ้อยคำผู้ใด ฤาอย่าหมายใจว่าโดยจะใช้สุรุ่ยสุร่ายไปเหมือนอย่างเช่นคนเขาไปแต่ก่อนๆ แต่พ่อเขาเปนขุนนางเขายังใช้กันได้ไม่ว่าไรกัน ถ้าคิดดังนั้นคาดดังนั้นเปนผิดแท้ทีเดียว พ่อรักลูกจริงแต่ไม่รักลูกอย่างชนิดนั้นเลย เพราะรู้เปนแน่ว่าถ้าจะรักอย่างนั้นตามใจอย่างนั้น จะไม่เปนการมีคุณอันใดแก่ตัวลูกผู้ได้ความรักนั้นเลย เพราะจะเปนผู้ไม่ได้วิชาที่ปราถนาจะให้ได้ จะไปได้แต่วิชาที่จะทำให้เสียชื่อเสียง แลได้ความร้อนใจอยู่เปนนิจ จงนึกไว้ให้เสมอว่าเงินทองที่แลเห็นมากๆ ไม่ได้เปนของหามาได้โดยง่ายเหมือนเวลาที่จ่ายไปง่ายนั้นเลย เงินที่ส่วนตัวได้รับเบี้ยหวัดฤาเงินกลางปีอยู่เสมอนั้น ก็ด้วยอาศรัยเปนลูกพ่อ ส่วนเงินที่พ่อได้ฤาลูกได้เพราะพ่อนั้น ก็เพราะอาศรัยที่พ่อเปนผู้ทำนุบำรุงรักษาบ้านเมืองแลราษฎรผู้เจ้าของทรัพย์นั้นก็เฉลี่ยเรี่ยรายกันมาให้ เพื่อจะให้เปนกำลังที่จะหาความสุขคุ้มกับค่าที่เหน็ดเหนื่อย ที่ต้องรับการในตำแหน่งอันสูง คือเปนผู้รักษาความสุขของเขาทั้งปวง เงินนั้นไม่ควรจะนำมาจำหน่ายในการที่ไม่เปนประโยชน์ ไม่เปนเรื่อง แลเปนการไม่มีคุณ กลับให้โทษแก่ตัว ต้องใช้แต่ในการจำเปนที่จะต้องใช้ ซึ่งจะเปนการมีคุณประโยชน์แก่ตนแลผู้อื่นในทางชอบธรรม ซึ่งจะเอาไปกอบโกยใช้หนี้ให้แก่ผู้ลูกผู้ทำความชั่วร้ายจนเสียทรัพย์ไปนั้น สมควรอยู่ฤา เพราะฉนั้นจึงต้องว่าไม่ยอมที่จะใช้หนี้ให้ โดยว่าจะต้องใช้ให้ก็จะต้องมีโทษ เปนประกันมั่นใจว่าจะไม่ต้องใช้อิก เพราะจะเข็ดหลาบในโทษที่ทำนั้นจึงจะยอมใช้ให้ได้ ใช้ให้เพราะจะไม่ให้ทรัพย์ผู้อื่นสูญเสียเท่านั้น ใช่จะใช้ให้โดยความรักใคร่อย่างบิดาให้บุตรเมื่อมีความยินดีต่อความประพฤติของบุตรนั้นเลย เพราะฉนั้นจงจำไว้ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่าตัวเปนคนจน มีเงินใช้แฉพาะแต่ที่จะรักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆอื่น แลไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเปนผู้ได้เงินจากราษฏรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตแลรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาเขาให้ฟุ้งซ่านไปเปนอันขาด
อิกอย่างหนึ่ง จะนึกเอาเองว่าถึงโดยเปนหนี้สินลงอย่างไร พ่อจะไม่ใช้ฤาจะให้ใช้ก็กลัวต้องทำโทษ คิดว่าเงินทองของตัวที่ได้ปีหนึ่งปีหนึ่งมีอยู่ทั้งเบี้ยหวัดแลเงินกลางปี เวลาออกไปเรียนไม่ได้ใช้ เงินรายนี้เก็บรวมอยู่เปล่าๆ จะเอาเงินรายนี้ใช้หนี้เสีย ต่อไปก็คงได้ทุกปี ซึ่งจะคิดอย่างนี้แล้วแลจับจ่ายเงินทองจนต้องเปนหนี้กลับเข้ามานั้น ก็เปนการไม่ถูกเหมือนกัน เพราะว่าผลประโยชน์อันใดที่จะได้อยู่ในเวลามีพ่อกับเวลาไม่มีพ่อนั้น จะถือเอาเปนแน่ว่าจะคงที่อยู่นั้นไม่ได้ แลยิ่งเปนผู้ใหญ่ขึ้น ก็จะมีบ้านเรือนบุตรภรรยามากขึ้น คงต้องใช้มากขึ้น เงินที่จะได้นั้นบางทีก็จะไม่พอ จะเชื่อว่าวิชาที่ตัวไปเรียนจะเปนเหตุให้ได้ทำราชการได้ผลประโยชน์ทันใช้หนี้ก็เชื่อไม่ได้เพราะเหตุที่ตัวเปนเจ้านาย ถ้าบางทีจะเปนเวลากีดขัดข้องเพราะเปนเจ้านายนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าจะหันไปข้างทำมาหากิน ซึ่งเปนการยากที่จะทำ เพราะเปนเจ้าเหมือนกัน คือไปรับจ้างเขาเปนเสมียนไม่ได้เปนต้น เมื่อทุนรอนที่มีเอาไปใช้หนี้เสียหมดแล้ว จะเอาอันใดเปนทุนรอนทำมาหากินเล่า เพราะฉนั้นจึงว่าถ้าจะคิดใช้อย่างเช่นนี้ ซึ่งตัวจะคิดเห็นว่าเปนอันไม่ต้องกวนพ่อแล้วนั้น ก็ยังเปนการเสียประโยชน์ภายน่ามาก ไม่ควรจะก่อให้มีให้เปนขึ้น
๖. วิชาที่จะออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องเรียนภาษาแลหนังสือในสามภาษา คืออังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ให้ได้แม่นยำชัดเจนคล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเปนอย่างน้อย เปนวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลขให้เรียนรู้คิดได้ใช้ได้ในการต่างๆ อิกอย่างหนึ่งนี้เปนต้น วิชาสองอย่างที่จำเปนจะต้องเรียนรู้ให้ได้จริงๆ เปนชั้นต้น แต่วิชาอื่นๆ ที่จะเรียนต่อไปให้เปนวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเปนแน่นอนว่าให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ก็ยังไม่ควร จะต้องไว้เปนคำสั่งต่อภายหลัง เมื่อรู้วิชาชั้นต้นพอสมควรแล้ว แต่บัดนี้จะขอตักเตือนอย่างหนึ่งก่อนว่าซึ่งให้ออกไปเรียนภาษาวิชาการในประเทศยุโรปนั้น ใช่ว่าจะต้องการเอามาใช้แต่เฉพาะภาษาฝรั่งฤาอย่างฝรั่งนั้นอย่างเดียว ภาษาไทยแลหนังสือไทยซึ่งเปนภาษาของตัว หนังสือของตัว คงจะต้องใช้อยู่เปนนิจ จงเข้าใจว่าภาษาต่างประเทศนั้นเปนแต่พื้นของความรู้ เพราะวิชาความรู้ในหนังสือไทยที่มีผู้แต่งไว้นั้นเปนแต่ของเก่าๆมีน้อย เพราะมิได้สมาคมกับชาติอื่นช้านาน เหมือนวิชาการในประเทศยุโรป ที่ได้สอบสวนซึ่งกันแลกัน จนเจริญรุ่งเรืองมากแล้วนั้น ฝ่ายหนังสือไทยจึงไม่พอที่จะเล่าเรียน จึงต้องไปเรียนภาษาอื่นเพื่อจะได้เรียนวิชาให้กว้างขวางออก แล้วจะเอากลับลงมาใช้เปนภาษาไทยทั้งสิ้น เพราะฉนั้นจะทิ้งภาษาของตัว ให้ลืมถ้อยคำที่จะพูดให้ลืมเสียฤาจะลืมวิธีเขียนหนังสือไทย ที่ตัวได้ฝึกหัดแล้วเสียนั้นไม่ได้เลย ถ้ารู้แต่ภาษาต่างประเทศ ไม่รู้เขียนอ่านแปลลงเปนภาษาไทยได้ ก็ไม่เปนประโยชน์อันใด ถ้าอย่างนั้นหาจ้างแต่ฝรั่งมาใช้เท่าไรเท่าไรก็ได้ ที่ต้องการนั้นต้องให้กลับแปลภาษาต่างประเทศลงเปนภาษาไทยได้ จึงจะนับว่าเปนประโยชน์ อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเปนการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น แต่ที่จริงเปนการเสียที่จะควรติเตียนแท้ทีเดียว เพราะเหตุฉนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเปนหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษฤาภาษาหนึ่งภาษาใดได้ ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง ให้เขียนคำแปลเปนหนังสือไทยอิกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเปนเด็ก ไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศรัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วยฤาค้นดูตามหนังสือภาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเปนภาษาไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะเปนกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไปแล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายน่า อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าจะผิดให้ทำตามที่เต็มความอุสาหะความแน่ใจว่าเปนถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด
๗. จงรู้ว่าการเล่าเรียนของลูกทั้งปวงนั้นอาว์ของเจ้ากรมหมื่นเทวะวงศวโรประการได้รับปฏิญาณต่อพ่อว่า จะตั้งใจอุสาหะเปนธุระในการเล่าเรียนของลูกทั้งปวง ทั้งในประจุบันและภายน่าพ่อได้มีความวางใจมอบธุระสิทธิ์ขาดแก่กรมหมื่นเทวะวงศวโรประการเปนธุระทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อมีธุระขัดข้องประการใดให้มีหนังสือมาถึงกรมหมื่นเทวะวงศ์ฯ ก็จะรู้ตลอดได้ถึงพ่อ แลกรมหมื่นเทวะวงศ์ฯ นั้นคงจะเอาธุระทำนุบำรุงทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จตลอดไปได้ ส่วนที่ในประเทศยุโรปนั้น ถ้าไปอยู่ในประเทศใดที่มีราชฑูตของเราอยู่ ราชฑูตคงจะเอาเปนธุระดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีการขัดข้องลำบากประการใด จงชี้แจงแจ้งความให้ท่านราชฑูตทราบ คงจะจัดการได้ตลอดไป เมื่อไปอยู่ในโรงเรียนแห่งใด จงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวาย เชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุสาหะพากเพียรเรียนวิชาให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อเปนที่ชื่นชมยินดี สมกับที่มีความรักนั้นเถิด”
— จากเนื้อความในจดหมายตามที่ได้อ่านนี้ รู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมากเลยใช่ไหมคะทุกท่าน Exit เองก็อ่านจบหลายรอบแล้วแต่ก็จะมีน้ำตารื้นทุกครั้ง กลั้นไม่อยู่จริงๆ เนื่องจากซาบซึ้งในสิ่งที่พระองค์ทรงปลูกฝังและสอนลูกๆของพระองค์เรื่องการใช้ชีวิตเรียนหนังสือในต่างแดน พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่ม และจุดประกาย พร้อมส่งเสริมให้เด็กไทย หันมาตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาทั้งในและต่างประเทศค่ะ
ทีนี้ก็ทราบกันแล้วนะคะว่าที่มาของการศึกษาต่อต่างประเทศนั้น ใครเป็นผู้ริเริ่มจุดประกาย และคงจะทราบกันดีว่าพระองค์นี้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพวกเราในทุกๆด้านจริงๆ อย่างหาที่เปรียบมิได้ ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะไม่มีพระองค์แล้ว แต่เสด็จพ่อร.5ของเรา ก็จะยังคงอยู่ในหัวใจของเราชาวสยามตลอดไปตราบนานเท่านานค่ะ
ทุกๆท่านสามารถไปสักการะบูชาพระองค์ได้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้านะคะ ควรบูชาทุกวันอังคาร ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ และวันพฤหัสบดีอันเป็นวันครูเครื่องสักการะให้ถวาย
[column col=”1/2″]
[/column]
[column col=”1/2″]
- น้ำมะพร้าวอ่อน
- กล้วยน้ำว้า
- ทองหยิบ
- ทองหยอด
- บรั่นดี
- ซิการ์
- ข้าวคลุกกะปิ
- ดอกกุหลาบสีชมพู
[/column]
[space height=”15″]
สุดท้ายนี้ Exit อยากให้ทุกๆท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษานะคะ การเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศนั้น ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิดจริงๆค่ะ อย่างที่พระองค์ทรงสอนลูกๆทั้งหมดถึงประโยชน์และความสำคัญของการศึกษานะคะ พวกเราถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่โชคดี ได้เกิดมาตอนที่ประเทศของเราเจริญและพัฒนาแล้ว การติดต่อสื่อสาร เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ทำให้โลกใบนี้แคบลงนิดเดียวเท่านั้น การไปเรียนต่างประเทศก็ไม่ยุ่งยากหรือลำบากอย่างที่คิด เราเองไปเรียนก็จะได้ภาษาอยู่แล้วเป็นผลประโยชน์โดยตรง แต่เราจะได้รับประโยชย์มากมายทางอ้อมอาทิ ได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นแม้ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างภาษา แต่เราก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ ได้เดินทางเห็นสถานที่ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น มีโอกาสแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเองยามที่ต้องอยู่ห่างไกลจากคุณพ่อคุณแม่ หากมีโอกาสแล้ว จะต้องรีบคว้าไว้ให้จงได้นะคะ และทำให้ดีที่สุด อย่าท้อถอยเด็ดขาด ให้สมกับโอกาสที่เราได้รับค่ะ
หากต้องการให้เราช่วยวางแผนการศึกษาต่างประเทศให้ อย่ารีรอที่จะทำอนาคตของท่านให้สดใสนะคะ ติดต่อ Exit Education ได้เลยค่ะ แล้วคำว่า International และโลกกว้างนั้น ก็จะอยู่ใกล้แค่เอื้อม และคำว่า Successful ก็จะอยู่ในกำมือเราค่ะ
รูปภาพ : www.chaipat.or.th , www.oknation.net
ติดต่อ Exit Education สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 02 1023746-7 , สาขาเชียงใหม่ โทร. 053-141714